วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2562

สื่อการสอนทางพลศึกษา

พัฒนาร่างกายและจิตใจ ผ่านเกมตาราง 9 ช่อง


พัฒนาร่างกายและจิตใจ ด้วยการเคลื่อนไหวผ่านเกมตาราง 9 ช่อง
ตาราง 9 ช่อง สามารถนำไปบูรณาการสร้างสรรค์กิจกรรมการเรียนการสอน และรูปแบบการเคลื่อนไหวได้หลากหลาย ดังนั้น ครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่สนใจ หากศึกษาและเข้าใจวิธีการ จะสามารถคิดและจัดรูปแบบกิจกรรมการเคลื่อนไหวได้ตามวัตถุประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นการนำไปประยุกต์ใช้ในด้านการเรียนการสอนเนื้อหาในแต่ละกลุ่มสาระวิชา หรือการฝึกทักษะกลไกการเคลื่อนไหวบนตาราง 9 ช่องให้กับเด็ก นักกีฬา บุคคลทั่วไป ผู้สูงอายุหรือผู้มีปัญหาทางด้านการเคลื่อนไหวและสมอง รวมทั้งการนำไปใช้เคลื่อนไหวประกอบกับจังหวะดนตรีในการออกกำลังกายแบบแอโรบิก รำเซิ้ง รำฟ้อน ลีลาศและเต้นรำเพื่อสุขภาพ


ประโยชน์ที่ได้รับจากการนำตาราง 9 ช่องไปใช้อาจจะแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ รูปแบบ วิธีการ กิจกรรมและความสม่ำเสมอในการฝึกปฏิบัติของแต่ละบุคคล ซึ่งพอจะสรุปประโยชน์ของตาราง 9 ช่อง โดยรวมได้ดังนี้
1) ช่วยพัฒนาการรับรู้ เรียนรู้ และการสั่งงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ
2) ช่วยพัฒนาทักษะการใช้มือและเท้าในการเคลื่อนไหวและการทรงตัว
3) ช่วยพัฒนาระบบไหลเวียนเลือดและระบบหายใจ
4) ช่วยพัฒนาความแข็งแรงและความสัมพันธ์ในการเคลื่อนไหว
5) ช่วยพัฒนาระบบพลังงานและการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย
6) ช่วยปรับความสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย
7) ช่วยพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ให้มีความหลากหลายได้คุณภาพ
8) ช่วยพัฒนาทักษะการคิดอย่างเป็นระบบการคิดอย่างมีเหตุผล
9) ช่วยพัฒนาบุคลิกภาพ ความมั่นใจ ความภาคภูมิใจในตัวเอง
10) ช่วยพัฒนาและเสริมสร้างสมาธิในการรับรู้เรียนรู้
11) ช่วยสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ให้รู้สึกสนุก ผ่อนคลาย ไม่เครียด
12) ช่วยพัฒนาวุฒิภาวะทางอารมณ์ (EQ) วุฒิภาวะทางสังคม (SQ) และวุฒิภาวะทางด้านสติปัญญา (IQ)
13) ช่วยพัฒนาการรับรู้เรียนรู้ของสมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวา
14) ช่วยให้สามารถประเมินผลการรับรู้ เรียนรู้ได้อย่างถูกต้องเป็นรูปธรรม
15) ช่วงส่งเสริมทักษะ พัฒนาความคิด จินตนาการและความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติในการเรียนรู้

ที่มา : อัจฉริยะตาราง 9 ช่อง พัฒนากาย พัฒนาสมอง โดย รศ.เจริญ กระบวนรัตน์ จาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2562

สื่อประสม

ความหมาย
        สื่อประสมหรือสื่อหลายแบบ (Multimedia) เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้คอมพิวเตอร์สามารถผสมผสานระหว่างข้อความ ข้อมูล ตัวเลข ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และเสียง ตลอดจนระบบโต้ตอบกับผู้ใช้ (Interactive) มาผสมผสานเข้าด้วยกัน
        สื่อประสมหรือมัลติมีเดีย หมายถึงการนำเอาสื่อหลาย ๆ อย่าง เช่น รูปภาพ เทป แผ่นโปร่งใส มาใช้ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการเรียนการสอน ต่อมาเมื่อมีการนำคอมพิวเตอร์มาใช้มากขึ้น และสามารถใช้งาน ได้ทั้งภาพนิ่ง เสียง ข้อความและภาพเคลื่อนไหว ทำให้ความหมายของสื่อประสมเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่วนประกอบหลัก ที่มีใช้ทั่วไปของคอมพิวเตอร์มัลติมีเดียจะมี CD-ROM sound card และลำโพง เพิ่มเข้ามาในคอมพิวเตอร์ หรืออาจมีส่วนประกอบที่เกี่ยวกับการใช้งานวิดีโอด้วย นอกจากนี้ยังมีความหมายรวมถึงการใช้การใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น เครื่องวิดีโอเทปเสียง ซีดีรอม กล้องดิจิตอล โทรทัศน์ฯลฯ ให้ทำงานร่วมกัน การใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมอุปกรณ์หลาย ๆ อย่างดังกล่าวจะต้องอาศัย โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software) และอุปกรณ์ (Hardware) ต่าง ๆ ประกอบกัน บางครั้งจึงเรียกว่าสถานีปฏิบัติการมัลติมีเดีย (Multimedia workstation) 
        ไฮเปอร์มีเดีย หมายถึง โปรแกรมคอมพิวเตอร์มัลติมีเดีย นำเสนอสารสนเทศต่าง ๆ ในรูปของ ตัวอักษร ภาพ เสียง และการเคลื่อนไหว โดยผู้ใช้สามารถเชื่อมโยง เลือกหรือเปลี่ยนแปลงวิธีการ ตลอดจนขั้นตอนการเรียนรู้ได้ตามที่กำหนด ไว้ในโปรแกรม



        ลักษณะของสื่อประสม
        1. การนำสื่อหลายชนิดมาผสมผสานเข้าด้วยกัน โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นตัวจัดการ และควบคุมให้สื่อต่าง ๆ ให้ แสดงผลออกมาทางหน้าจอและลำโพงของคอมพิวเตอร์ อันประกอบไปด้วย
            1. ภาพ ได้แก่ ภาพนิ่ง ภาพกราฟิก ภาพเคลื่อนไหว และภาพวีดิทัศน์
            2. เสียง ได้แก่ เสียงบรรยาย เสียงสนทนา ดนตรี และเสียงประกอบอื่น ๆ
            3. ข้อความ ซึ่งคอมพิวเตอร์สร้างจากข้อมูลตัวอักษร
            4. ความสามารถโต้ตอบกับผู้ใช้ได้ (interactivity) คือ ความสามารถในการจัดการกับข้อมูลภาพและเสียง ให้แสดงผลบนจอในลักษณะที่โต้ตอบกับผู้ใช้ได้ ไม่ใช่การแสดงผลรวดเดียวจบ (run through) แบบวีดิทัศน์ หรือภาพยนตร์ และไม่ใช่การสื่อสารทางเดียว (one-way communication) คือ ผู้ชมเป็นผู้ดูฝ่ายเดียวอีกต่อไป
        คุณค่าและข้อจำกัดของสื่อประสม
        คุณค่า
        1. ผู้เรียนมีโอกาสศึกษาตามความสามารถและความสนใจจากสื่อหลายประเภท และได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่า
        2. ช่วยลดเวลาการเรียนและการสอนทั้งผู้เรียนและผู้สอน แต่ประสิทธิภาพการเรียนไม่ลดลง
        3. ช่วยเพิ่มพูนกระบวนการเรียนเพื่อรอบรู้และลดปัญหาการสอบตก
        4. ช่วยในการประเมินผลการสอนและการปรับปรุงการสอน
        ข้อจำกัด
        1. สื่อประสมที่ดีนั้นบูรณาการได้มากกว่าสื่อเฉพาะอย่าง
        2. สื่อประสมสำหรับการเรียนการสอนบางอย่าง มีข้อจำกัดเกี่ยวกับสถานที่และเครื่องมือเครื่องใช้
        3. ใช้งบประมาณและเวลามากในการเตรียมการเพื่อการผลิตหรือการจัดทำ

ที่มา https://www.st.ac.th/av/inno_multimedia.htm 

สื่อการสอนทางพลศึกษา

พัฒนาร่างกายและจิตใจ ผ่านเกมตาราง 9 ช่อง พัฒนาร่างกายและจิตใจ ด้วยการเคลื่อนไหวผ่านเกมตาราง 9 ช่อง ตาราง 9 ช่อง สามารถนำไปบูรณาการสร...